สัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ แพะและแกะ ซึ่งเป็นสัตว์สี่กระเพาะ เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้วจะคายออกมาเคี้ยวเอื้องอีกครั้งก่อนจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ สัตว์เคี้ยวเอื้องอาจแบ่งแยกประเภทออกได้ตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการเลี้ยงดังนี้ คือ ๑. โคเนื้อ โคที่เลี้ยงในบ้านเราป็นโคขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตช้า ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ใช้งานเช่น ไถนา ทำไร่ และเทียมเกวียนหรือล้อเพื่อใช้ในการขนส่งระยะสั้นๆ หลังจากเลิกใช้งานแล้วก็ส่งเข้าโรงฆ่า ชำแหละออกมาเป็นเนื้อวัวสำหรับบริโภค ปัจจุบัน ทางราชการได้นำโคพันธุ์เนื้อจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ และพบว่าโคเนื้อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน หรือโคลูกผสมอเมริกันบราห์มัน (เช่น โคพันธุ์เดราต์มาสเตอร์) สามารถเลี้ยง และเจริญเติบโตได้ดีในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีความทนทานต่อโรคเหมือนโคพื้นเมืองของไทย ๒. โคนม โคพื้นเมืองของไทยให้นมน้อยประมาณวันละ ๒-๓ ลิตร ทางราชการจึงได้ทดลองนำโคพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงหลายพันธุ์ด้วยกัน และพบว่าโคพันธุ์แท้ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรายังไม่มีความเหมาะสมกับบ้านเรา โดยเฉพาะมีการแพ้โรคต่างๆ มาก และมักจะเสียชีวิตหลังจากนำเข้าไม่นานนัก จึงได้ผลิตโคลูกผสมโดยใช้โคพันธุ์นมจากต่างประเทศที่นำเข้ามาผสมกับวัวพื้นเมือง และพบว่าโคนมลูกผสมขาวดำ (โฮลสไตน์ ฟรีเชียน) กับโคพื้นเมืองเป็นโคนมลูกผสมที่ให้นมดีที่สุด บางตัวให้นมสูงถึง ๓๘ ลิตรต่อวัน และทั่วๆ ไปให้นมมากกว่า ๑๐ ลิตรต่อวัน ๓. กระบืองานหรือกระบือปลัก กระบือบ้านเราเรียกทั่วๆ ไปว่ากระบือปลักหรือกระบือที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานเป็นหลัก ให้น้ำนมน้อยประมาณวันละ ๑-๒ ลิตร และเมื่อเลิกใช้งานแล้วก็ส่งเข้าโรงฆ่าเอาเนื้อมาบริโภค ๔. กระบือนมหรือกระบือแม่น้ำ กระบือชนิดนี้เป็นกระบือที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อเลี้ยงเอาไว้รีดนมโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า กระบือแม่น้ำเป็นการเรียกตามชาวต่างประเทศที่เรียกว่า ริเวอร์บัฟฟาโล (River buffalo) กระบือนมมีหลายพันธุ์แต่ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเราคือ กระบือพันธุ์มูร์ราห์ ซึ่งมีการให้นมประมาณวันละ ๗-๘ ลิตร แต่บางตัวให้นมสูงถึง ๒๐ ลิตรหรือกว่านั้น กระบือพันธุ์นี้นอกจากให้นมแล้วยังใช้งานได้ด้วย และเมื่อรีดนมแล้วก็สามารถใช้เนื้อบริโภคได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้มีการนำกระบือมูร์ราห์มาผสมกับกระบือบ้านเรา ปรากฏว่าลูกออกมาให้น้ำนมมากขึ้น และสามารถใช้งานได้ดีเช่น กระบือพื้นเมือง และเนื้อก็มีคุณภาพดี ๕. แพะ แพะพื้นเมืองของบ้านเรามีเลี้ยงกันมากในภาคใต้ ตัวค่อนข้างเล็ก หนักประมาณ ๑๐-๑๘ กิโลกรัม และมีนมน้อย ทางราชการจึงได้นำแพะพันธุ์นมจากต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่าแพะพันธุ์ซาเนนเหมาะสมที่จะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบ้านเราโดยเฉพาะซาเนนลูกผสม ซึ่งให้น้ำนมประมาณวันละ ๒-๔ ลิตร และมีความทนทานต่อโรคมากกว่าแพะพันธุ์แท้ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยง ๖. แกะ แกะพื้นเมืองเลี้ยงกันมากในภาคใต้เช่นเดียวกับแพะ ตัวมีขนาดเล็กมากประมาณ ๘-๑๒ กิโลกรัมแต่มีความทนทานต่อโรคดี ทางราชการได้ทดลองนำแกะพันธุ์ต่างๆเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเรา และพบว่าแกะพันธุ์แท้ที่นำเข้ามายังไม่สามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา แต่แกะลูกผสมที่เกิดจากแกะพันธุ์ดอร์เซตและพันธุ์พื้นเมืองจะสามารถเลี้ยงในบ้านเราได้เป็นอย่างดี และมีน้ำหนักประมาณ ๒๕-๓๐ กิโลกรัม ซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ส่งเสริมให้เลี้ยงแกะในบ้านเรา [กลับหัวข้อหลัก] |
|
สัตว์กระเพาะเดียว สัตว์กระเพาะเดียวที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศคือสุกร ซึ่งมีการเลี้ยงกันมากทั่วประเทศ สุกรพื้นเมืองเดิมมีชื่อต่างๆ กัน เช่น พวง แรด และอื่นๆ มีลำตัวค่อนข้างเล็ก แต่ให้ลูกดกและมีความทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดีซึ่งไม่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงเพื่อธุรกิจการค้า ต่อมาจึงได้มีการนำสุกรพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยงในบ้านเราหลายพันธุ์ด้วยกัน และพบว่าสุกรพันธุ์แท้บางพันธุ์สามารถเลี้ยงได้ดีในบ้านเรา ซึ่งได้แก่สุกรพันธุ์ต่อไปนี้ (๑) ดูร็อกเจอร์ซี (๒) ลาร์จไวต์ (๓) แลนด์เรซ นอกจากนี้ก็ได้มีผู้นำสุกรพันธุ์ผสมเข้ามาเลี้ยงอีกหลายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นสุกรพันธุ์ผสมซึ่งเกิดจากสุกรทั้งสามพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงนำสุกรพันธุ์เหมยซาน ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน ๔ คู่ มาให้กรมปศุสัตว์ทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ พบว่าสุกรพันธุ์นี้สามารถให้ลูกดกมากเฉลี่ยครอกละ ๑๖ ตัว และมีบางครอกให้ลูกถึง ๒๔ ตัว สามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าสุกรพื้นเมืองเดิม มีเนื้อมาก และเนื้อมีคุณภาพดี เพื่อให้สุกรนี้มีลักษณะดีขึ้นกว่าที่มีอยู่เดิม กรมปศุสัตว์ได้นำสุกรพันธุ์นี้มาทดลองผสมกับสุกรทั้งสามพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น และพบว่าสุกรลูกผสมเหมยซานกับดูร็อกเจอร์ซี่จะมีลักษณะดีที่สุดทั้งในด้านรูปร่างลักษณะ การเจริญเติบโตคุณภาพของเนื้อ และความทนทานต่อโรค สุกรพันธุ์ลูกผสมเหมยซานและดูร็อกเจอร์ซี่ ที่กรมปศุสัตว์ผสมขึ้นเพื่อให้เกษตรกรในชนบทได้นำไปเลี้ยงนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า "สุกรมิตรสัมพันธ์" [กลับหัวข้อหลัก] |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น